การตรวจสอบเหล็กเส้นแบบที่เจ้าของบ้านก็ทำเองได้

#วิธีการตรวจสอบเหล็กเส้น
#วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเหล็กเส้นแล้วได้ไม่ตรง
#ชั่งเหล็กเส้นแล้วน้ำหนักไม่ตรง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้รับเหมาเอาเหล็กเต็มหรือไม่เต็มมาใช้ก่อสร้างบ้านให้เราหรือเปล่า เป็นคำถามยอดฮิตที่เจออยู่บ่อยๆ และเจ้าของบ้านส่วนใหญ่เป็นกังวลเกี่ยวกับเหล็กเส้นที่ผู้รับเหมานำเข้ามาใช้ก่อสร้างบ้านของตน

แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปถึงเรื่องวิธีการตรวจสอบ ผมอยากให้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า “มาตรฐาน” ของเหล็กเส้นตามหลักสมอ. (สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) กันก่อนครับ

การที่เหล็กเส้นจะได้มอก.ตามมาตรฐานของสมอ. นั้น เหล็กจากโรงงานนั้นๆ ต้องผ่านการทดสอบทั้ง 4 ข้อนี้ได้ครบทั้งหมดทุกข้อ ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างเหล็กที่ต้องนำมาทดสอบ ถึงจะเรียกได้เต็มปากว่าเหล็กที่ผลิตจากโรงงานนั้นๆ ผ่านมาตรฐานได้มอก. และโรงงานถึงจะมีสิทธิ์ปะยี่ห้อ (ปั๊มตัวนูนหรือติด Tag) ลงบนเหล็กที่นำมาขายได้ครับ ซึ่งการทดสอบ 4 อย่างนั้นก็คือ

1 ทดสอบความยาว
2 ทดสอบมวลต่อเมตร
3 ส่วนประกอบทางเคมี
4 สมบัติการดึง

แต่สำหรับเจ้าของบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ จะทดสอบเบื้องต้นอย่างไรดีว่าผู้รับเหมาที่สร้างบ้านให้เรานั้นไม่ได้ลักไก่เอาเหล็กไม่เต็มมาสร้างบ้านให้เรา วันนี้เรามีวิธีแนะนำอย่างง่ายๆ 2 แบบที่จะตรวจสอบเหล็กเต็มหรือไม่เต็ม นั่นก็คือ

1 ตรวจสอบทางสายตา
2 ตรวจสอบด้วยการการชั่งน้ำหนัก

การตรวจสอบทางสายตา

การตรวจสอบทางสายตาเป็นวิธีที่ง่ายสุด สิ่งที่ดูง่ายที่สุดอันดับแรกก็คือดูตัวอักษรปั๊มนูนบนตัวเหล็กครับ ซึ่งตามมาตรฐานมอก. บนเนื้อเหล็กจะต้องปั๊มนูนข้อความดังต่อไปนี้ครับ

1 ชื่อหรือเครื่องหมายการค้า
2 ขนาด
3 ชั้นคุณภาพ

ดังนั้นถ้าดูด้วยตาแล้วเห็นชื่อโรงงานที่ได้มาตรฐานหรือเป็นชื่อที่เรารู้จัก เราก็คงอุ่นใจได้ระดับหนึ่งแน่นอน เพราะอย่างที่บอกข้างต้นว่าบนเนื้อเหล็กจะมาตีตรากันพล่อยๆ ไม่ได้ มันผิดกฏหมาย นอกจากนี้หากเหล็กส่งเข้าไซท์งานมาแบบเต็มมัด ให้ลองสังเกตป้ายหรือฉลาก (Tag) ที่จะต้องมีระบุไว้ทุกมัดด้วยยิ่งดี ซึ่ง Tag นี้ก็เป็นข้อบังคับของสมอ. ที่จะต้องมีอยู่ทุกมัดเช่นกัน (แต่ Tag อาจจะหลุดระหว่างขนส่งก็เป็นไปได้นะครับ)

นอกจากการดูป้าย Tag และอักษรปั๊มนูนแล้ว ก็ดูขนาดของเหล็กเส้นครับ หากเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในงานก่อสร้าง บางทีดูด้วยตาปั๊บจะรู้สึกได้ทันทีว่าขนาดเหล็กมันเล็กผิดปกติ แต่เจ้าของบ้านอย่างเราคงไม่ชำนาญขนาดนั้น ก็คงต้องพึ่งเอาเครื่องมือมาวัด วิธีการตรวจสอบก็คือการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กนั่นเอง แต่รายละเอียดการวัดเราจะมาพูดถึงไปพร้อมๆ กับการลองชั่งน้ำหนักเหล็กในหัวข้อต่อไปครับ

ตรวจสอบด้วยการการชั่งน้ำหนัก

ก่อนที่เราจะหยิบเหล็กไปชั่งน้ำหนัก ผมต้องขอพูดถึงเรื่องของการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กก่อนครับ

การวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็ก ว่ากันตามมาตรฐานมอก.แล้ว เครื่องมือวัดต้องวัดละเอียดได้ถึง 1 มิลลิเมตร ดังนั้นไม้บรรทัดหรือตลับเมตรทั่วไปก็ถือว่าใช้ได้แล้วครับ แต่เท่าที่ผ่านมา ถ้าเป็นเครื่องมือที่สบายใจเจ้าของบ้านมากที่สุดก็เห็นจะต้องเป็นเวอร์เนีย (ซึ่งมันเกินมาตราฐานไปหน่อย)

กรณีถ้าเป็นเหล็กกลมก็วัดได้เลยครับ วัดหลายๆ ตำแหน่ง หัว กลาง ท้าย มีคนถามว่าต้องวัดกี่ที่ กี่ชิ้น ต้องบอกว่ามาตราฐานไม่ได้กำหนดครับ เพราะอย่างที่บอก มาตราฐานมอก.ทดสอบ 4 อย่าง และการทดสอบเรื่องเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ได้อยู่ใน 4 ข้อที่ว่าไว้ครับ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับเหล็กกลม “ขนาดระบุ”ยังไงก็ต้องวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ตามนั้น (ผิดพลาด +/- ได้ตามมาตรฐาน) เพราะวิธีคำนวณมวล (น้ำหนัก) ยังไงก็มาจากสูตรคณิตศาสตร์พื้นฐาน pi D^2/4 ดั้งนั้นถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางผิด น้ำหนักก็จะผิดตาม

สำหรับเหล็กข้ออ้อย การทดสอบด้วยการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่สามารถทำได้นะครับ เพราะวัดขอบนอกตรงบั้งกับวัดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านในบั้งยังไงก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นทดสอบวิธีเบื้องต้องสำหรับเจ้าของบ้านจึงต้องใช้วิธีการชั่งน้ำหนักเท่านั้น!!!

พูดถึงการวัดเส้นผ่าศูนย์กลางไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึงการชั่งน้ำหนักเหล็กดูครับ การวัดน้ำหนักเป็นวิธีการตรวจสอบแบบง่ายที่เจ้าของบ้านก็สามารถทำได้และเป็นหนึ่งในวิธีวัดมาตรฐาน (อย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่าเป็นหนึ่งในวิธีการทดสอบกลุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งมอก.)

เครื่องมือที่จะนำมาชั่งตามมาตราฐานกำหนดว่าจะต้องมีความละเอียดถึง 1 กรัมครับ และเครื่องมือที่จะนำมาวัดความยาวต้องละเอียดถึง 1 มิลลิเมตร ทำการทดสอบ 5 ชิ้น เอาไปชั่งดู น้ำหนักต่อ 1 เมตรต้องได้ตามนี้ครับ

เหล็กเส้นกลม
6 มม. มีน้ำหนัก 0.222 กก.
9 มม. มีน้ำหนัก 0.499 กก.
12 มม. มีน้ำหนัก 0.888 กก.
15 มม. มีน้ำหนัก 1.387 กก.
19 มม. มีน้ำหนัก 2.226 กก.
25 มม. มีน้ำหนัก 3.853 กก.

เหล็กข้ออ้อย
10 มม. มีน้ำหนัก 0.616 กก.
12 มม. มีน้ำหนัก 0.888 กก.
16 มม. มีน้ำหนัก 1.578 กก.
20 มม. มีน้ำหนัก 2.466 กก.
25 มม. มีน้ำหนัก 3.853 กก.
28 มม. มีน้ำหนัก 4.834 กก.
32 มม. มีน้ำหนัก 6.31 กก.

“หลักสำคัญ” คือ น้ำหนักไม่เป๊ะนะครับ เจ้าของบ้านทั่วไปมักจะนอยด์เวลาชั่งออกมาแล้วได้น้ำหนักไม่เต็ม ทั้งนี้เป็นเพราะตามมาตรฐานมอก. มีค่ายอมรับได้+/-ครับ ซึ่งในเมืองไทยมักจะเป็นไปทางลบด้วยนะซิครับ

เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเหล็กข้ออ้อย
10, 12, 16 มม. ให้ +/- 6%
20, 25 มม. ให้ +/- 5%

เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเหล็กกลม
6 มม. ให้ +/- 10%
นอกนั้น ให้ +/- 6%

ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเหล็กใหญ่ๆ คำนวณดูต่อ 1 เมตรนี่เรียกได้ว่าคลาดเคลื่อนกันได้ถึง 2 ขีดกันเลยทีเดียวนะครับ

หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์และตอบคำถามในใจกับเจ้าของบ้านหลายๆ ท่านที่กำลังหาข้อมูลกันอยู่ครับ

#เหล็กเต็มเหล็กไม่เต็มดูยังไง #วิธีดูเหล็กไม่เต็ม #วิธีดูเหล็กเต็ม