การติดตั้งถังเก็บน้ำใต้ดินและขั้นตอนที่ขาดไม่ได้

หากผู้อ่านได้เข้าไปดูบ้านโครงการขณะนี้ส่วนใหญ่แทบทุกโครงการจะมีการติดตั้งปั๊มน้ำ ถังเก็บน้ำ และถังบำบัดน้ำเสีย แล้วท่านทราบหรือไม่ว่าการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ติดตั้งอย่างไรจึงถูกต้อง เพราะถ้าหากท่านเข้าไปดูบ้านที่สร้างเสร็จแล้วสิ่งที่ท่านได้เห็นก็แค่ฝาบ่อหรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือไม่มีแม้กระทั่งฝาบ่อให้ท่านเห็น ส่วนปั๊มน้ำนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ขนาดของปั๊มซึ่งส่วนใหญ่ทางโครงการจะคำนวณไว้แล้วว่าบ้านขนาดนี้จะใช้น้ำปริมาณเท่าไหร่ และจะต้องใช้ปั๊มขนาดเท่าไหร่ ส่วนวาล์วต่างๆ ก็ต้องตรวจสอบดูว่ามีครบหรือไม่ เรื่องการเดินท่อเข้าปั๊มน้ำผู้เขียนขอติดไว้ก่อนนะครับ เพราะวันนี้เราจะมาพูดถึงการติดตั้งถังเก็บน้ำใต้ดินกัน

ก่อนอื่นเราต้องขนาดของถังเก็บน้ำก่อนว่าจะใช้ขนาดเท่าใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่อาศัยในบ้านปกติแล้วความต้องการการใช้น้ำจะอยู่ที่ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ดังนั้นสูตรในการคำนวณขนาดของถังเก็บน้ำคือ

ขนาดของถังเก็บน้ำ = 200 x จำนวนคน x จำนวนวันที่จะสำรองน้ำ

เช่น มีคนอาศัยในบ้าน 4 คน ต้องการสำรองน้ำไว้ใช้ 2 วัน ดังนั้นขนาดถังเก็บน้ำที่เราต้องการคือ 200 x 4 x2 = 1600 ลิตร

ส่วนจำนวนวันที่จะใช้สำรองน้ำนั้นขึ้นอยู่กับว่าบริเวณนั้นมีน้ำพอเพียงต่อความต้องการหรือไม่ หรือว่ามีการน้ำหยุดจ่ายน้ำบ่อยหรือไม่ และเมื่อหยุดจ่ายน้ำในแต่ละครั้งนั้นกินเวลานานเท่าไหร่ จากนั้นจึงกลับไปคำนวณตามสูตรดูใหม่ตามความเหมาะสม แต่หากว่าขนาดของถังเก็บน้ำที่คำนวณได้ไม่มีผลิตแล้วล่ะก็ควรเพิ่มขนาดของถังขึ้นให้เข้ากับขนาดของถังที่ผู้ผลิตจะดีกว่า แต่ถ้าหากบริเวณที่จะติดตั้งมีพื้นที่จำกัดควรปรึกษาร้านที่จำหน่ายถังเก็บน้ำได้ครับ

เมื่อได้ขนาดของถังเก็บน้ำเรียบร้อยแล้ว คราวนี้เรามาดูวิธีการติดตั้งถังเก็บน้ำใต้ดินกันครับ

ผู้เขียนขออธิบายด้วยรูปแล้วกันนะครับเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

ขั้นตอนแรกต้องตอกเสาเข็ม ทำไมจึงต้องตอกเข็ม? เพราะถังเก็บน้ำมีน้ำหนักมากหากไม่ตอกเข็มจะทำให้ถังเก็บน้ำทรุดตัวและจะดึงระบบท่อส่งน้ำไปด้วย ทำให้ท่อแตกหรือรั่วได้ครับ และยากต่อการหารอยรั่วและการซ่อมแซมด้วย ซึ่งขนาดและความลึกของเสาเข็มก็ขึ้นอยู่กับการคำนวณของวิศวกรครับ

จากนั้นจึงวางเหล็กเพื่อทำฐานรับถังเก็บน้ำดังรูปด้านบน

การเทคอนกรีตฐานรองรับถังเก็บน้ำใต้ดิน

จากนั้นจึงเทคอนกรีตความหนาตามวิศวกรคำนวณ

!!! อย่าลืมยื่นเหล็กขึ้นมาทั้ง 4 มุมเผื่อไว้ผูกยึดกับปากถังเก็บน้ำ ทั้งนี้เพราะใต้ดินอาจมีน้ำใต้ดินเข้ามาท่วมโดยรอบของถังเก็บน้ำ ถ้าหากขณะนั้นถังเก็บน้ำของเราน้ำน้อยหรือน้ำแห้งจะทำให้น้ำใต้ดินดันถังให้ถังลอยขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีเหล็กขึ้นมารัดตัวถังเก็บน้ำเอาไว้

เมื่อบ่มคอนกรีตรองรับถังเพื่อให้คอนกรีตสามารถรับแรงได้ตามที่วิศวกรออกแบบแล้วอย่างน้อย 7 วัน จึงนำถังเก็บน้ำวางบนแท่นรองรับดังกล่าว

!!! อย่าลืมวางถังเก็บน้ำให้ได้ระดับไม่ให้ถังเก็บน้ำเอียง ซึ่งหากถังเก็บน้ำไม่ได้ดิ่งแล้วน้ำในถังเก็บน้ำอาจทำให้ตัวถังเก็บน้ำเอียงมากขึ้นและตัวถังที่เอียงจะดึงรั้งระบบท่อส่งน้ำให้เกิดรอยรั่วได้

ขั้นตอนต่อไปคือการฝังกลบถังเก็บน้ำโดยใช้ทรายขี้เป็ดฝังกลบ

!!! อย่าลืม สิ่งที่ช่างมักจะละเลยคือ”วัสดุกลบ” ไม่ควรใช้ดินในการกลบฝังถังเก็บน้ำเนื่องจากดินอาจมีเศษวัสดุปะปนหรือแม้กระทั่งความแข็งของตัวดินเองเมื่อบดอัดส่วนเหลี่ยมคมอาจทำให้ถังเกิดรอยร้าวและทำให้ถังรั่วซึมได้ ซึ่งยากต่อการซ่อมแซม สิ่งที่ควรใช้กลบฝังถังเก็บน้ำคือ “ทรายขี้เป็ด”

หลังจากกลบทรายจนเกือบถึงปากถังเก็บน้ำแล้ว ควรดาดด้วยปูนทรายเพื่อล็อคให้ถังเก็บน้ำไม่เอียงไปมาก่อนเทคอนกรีตล็อครอบคอถังเก็บน้ำ

!!! อย่าลืมนำเหล็กทั้ง 4 มุมที่ยื่นไว้รัดปากถังเก็บน้ำเพื่อยึดไม่ให้ถังเก็บน้ำลอยเมื่อมีน้ำใต้ดินไหลเข้ามาโดยรอบบริเวณถังเก็บน้ำ

กลบทรายทับจนได้ระดับ

ตีแบบวางเหล็กเพื่อเทคอนกรีตล็อคถังเก็บน้ำ

ติดตั้งฝาบ่อสำเร็จรูป

ก่ออิฐรองรับฝาบ่อให้เรียบร้อย

จะเห็นว่าการติดตั้งถังเก็บน้ำใต้ดินดูเหมือนมีขั้นตอนไม่ยากแต่หากละเลยขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายให้กับระบบน้ำดีต่อไปในภายภาคหน้าได้ และเนื่องจากเป็นงานใต้ดินการซ่อมแซมก็จะยุ่งยากมากขึ้น

ขอขอบคุณ บ. ล้อหมุน จก. เอื้อเฟื้อรูปถ่ายประกอบเรื่อง