ตรวจอย่างไร ตรวจแค่ไหน ถึงจะพอดีและเหมาะสม

สวัสดีครับผมมิสเตอร์เช็คมีเรื่องเล่าจากการตรวจบ้านมาเล่าให้ฟังอีกแล้วครับ อืม วันนี้เอาเป็นว่ามีเรื่องอยากให้ทำความเข้าใจมากกว่า อยากเป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่างเจ้าของบ้านและโครงการ(ผู้รับเหมา)ในการซื้อบ้านนั้นแน่นอนว่าท่านว่าที่เจ้าของบ้านต้องอยากได้บ้านที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด…แน่นอนใช่ไหมล่ะครับ แต่เนื่องจากในงานก่อสร้างนั้นเปรียบเสมือนงานแฮนด์เมดนะครับ(ตามที่โครงการหรือผู้รับเหมากล่าวอ้าง) คือ งานที่ย่อมมีข้อบกพร่อง ให้เข้าไปตรวจกี่ครั้งทุกครั้งก็ต้องมีจุดที่บกพร่อง แต่อยู่ที่ว่าจุดไหนคือจุดที่ต้องแก้ไขและจุดไหนที่พอจะรับได้ วันนี้ผมสรุปงานที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และงานที่สามารถยอมรับได้ ผมขอแยกเป็นงานๆ ไปน่ะครับ

1.งานโครงสร้าง คืองานเมนหลักของงานก่อสร้าง อันที่จริงต้องดูตั้งแต่ระหว่างก่อสร้างครับ จะดูได้ดีกว่า แต่เบื้องต้น ก็จะดูในเรื่องรอยร้าว ตามเสาและผนัง ว่าเกิดจากโครงสร้าง หรือการฉาบ

ซึ่งรอยร้าวจะแตกต่างกันครับ

2.งานระบบ คือระบบไฟฟ้าและประปา ซึ่งงานระบบใครๆ ก็อาจคิดว่าไม่สำคัญแต่ที่จริงนั้น มันสำคัญไม่ต่างกับงานโครงสร้างเลย ครับ เพราะเรื่องน้ำเรื่องไฟ เป็นปัญหาเรื้อรังครับถ้าหากมีการแก้ไข

ที่ไม่ถูกวิธี โดยงานในส่วนนี้ ผมขอแยกเป็นข้อย่อยน่ะครับ

2.1 ตู้โหลดไฟฟ้า คือเมนหลักของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ดังนั้น ความสำคัญน่าจะเป็นต้นๆ เลยครับ งานในส่วนนี้จะดูในเรื่อง ขนาดเมนเบรกเกอร์และขนาดสายเมนว่าถูกต้องตามมาตรฐาน หรือไม่ การติดตั้งตู้ป็นอย่างไร มีอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่วหรือไม่(แล้วแต่สเปกโครงการ) ถ้ามี ยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือเปล่า พิกัดป้องกันกระแสรั่วสัมพันธ์กับการใช้งานหรือไม่ ความสมบูรณ์ของสายดิน จำนวนสายดิน ครบหรือไม่ และการเชื่อมต่อสายดิน(สำคัญมากครับ อาจดูเพิ่มเติมในเรื่องสายดินได้ครับ) ขนาดเบรกเกอร์ย่อยและสายไฟฟ้าวงจรย่อยต้องมีขนาดที่เหมาะสมกัน ซึ่งหากมีขนาดสายที่เล็กกว่าขนาดเบรกเกอร์ กรณีที่ Full load หรือกระแสไฟฟ้าเกินพิกัดที่สายไฟทนได้จะทำให้สายไฟร้อนและอาจจะไหม้ได้ก่อนที่เบรกเกอร์ย่อยจะตัดครับสีสายไฟได้มาตรฐานหรือไม่ ตัวเบรกเกอร์ย่อยตรงกับวงจรที่สติ๊กเกอร์แปะไว้ทีตู้หรือไม่ เป็นต้น (ก่อนที่จะงงกันไปมากว่านี้)

2.2 งานอุปกรณ์ไฟฟ้า คือพวกปลั๊ก สวิทซ์ โคมไฟ กระดิ่งไฟฟ้า เป็นต้น ดูในเรื่องการติดตั้ง หน้ากากเอียงหรือไม่ ปลั๊กทุกตัวมีสายดินและมีเมนไฟจ่ายหรือไม่ สวิทซ์ควบคุมโคมไฟเป็นไปตามแบบหรือไม่ ตำแหน่งและจำนวน ตามแบบหรือไม่ โคมไฟแนบฝ้าหรือเปล่า สว่างทุกตัวหรือไม่

2.3 งานระบบสื่อสาร คือระบบทีวีและโทรศัพท์ จะตรวจในส่วนความสมบูรณ์ของสายสัญญาณ ว่าพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับระบบข้างนอกหรือไม่ โดยสายจะต้องไม่ขาดระหว่างทาง การเข้าสายกับขั้วเต้ารับจะต้องเชื่อมต่อถึงกัน เต้ารับต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

2.4 งานปรับอากาศ หากมีการติดตั้งเครื่องแล้วก็จะทดสอบ โดยอาจจะรันทิ้งไว้ทั้งวัน ตรวจสอบในส่วนการรั่วซึม ความเย็น ท่อเดรน แต่หากยังไม่ติดตั้งเครื่อง ก็ตรวจสอบในเรื่องของสายไฟ ตำแหน่งการติดตั้ง เป็นต้น

2.5 งานใต้หลังคา คืองานในส่วนของเหนือฝ้า จะมีในส่วนเรื่องการเชื่อมและการติดตั้งโครงหลังคา จะต้องเก็บรอยเชื่อมและทาสีให้เรียบร้อย (กรณีเป็นโครงเหล็ก) แต่หากเป็นโครงอะลูมิเนียม หรือ Smarttrus ก็จะตรวจสอบการต่อว่าได้มาตรฐานหรือไม่ อะลูมิเนียมต้องไม่หักหรือขาด การยึดแผ่นกระเบื้องหลังคาต้องปิดให้สนิท ไม่สามารถให้แสดลอดผ่านได้ ยึดน๊อตให้ครบ แผ่นสะท้อนความร้อน(ถ้ามี) ผนังกั้นบ้านต้องปิดให้สนิท ไม่สามารถปีนเข้าไปถึงกันได้ โครงเคร่าฝ้าต้องมีระยะที่เหมาะสม ต้องไม่โดนตัดหรือขาด คราบน้ำตามฝ้าต้องไม่มี งานเดินท่อไฟและร้อยสายต้องเป็นระเบียบ ถ้าเป็นสายชนิด THW ต้องมีท่อหุ้ม เพราะเป็นสายหุ้มฉนวนชั้นเดียว แต่ถ้าหาก เป็นสาย VAF อนุโลมให้เดินลอยได้เนื่องจากมีฉนวนหุ่มสองชั้น แต่ต้องตีกิ๊บให้เรียบร้อย จำนวนสายไฟที่อยู่ในท่อหรือ อยู่ใน Junction box จะต้องไม่แน่นจนเกินไป (หากแน่นสายอาจร้อนได้)ฝา BOX ต้องปิดทุกตัว หากไม่ปิด กรณีถ้าน้ำรั่วอาจจะซึมและกระเซ็นเข้าสายไฟได้ ท่ออากาศต้องปิดปากท่อด้วยตาข่ายกันสัตว์ต่างๆ วิ่งลงท่อ ความสะอาดข้างบนต้องไม่มีเศษขยะหรือเศษสายไฟ

2.6 งานระบบภายนอก

2.6.1 ปั๊มน้ำ จะตรวจสอบในส่วนของกำลังวัตต์ว่ามีขนาดแรงพอกับขนาดบ้านหรือไม่ ตรวจการเดินท่อและวาล์ว ว่าติดตั้งครบหรือไม่ มีน้ำซึมตามท่อหรือไม่,ตรวจสอบการเดินสายไฟและสายดิน ว่าได้ต่อหรือไม่

2.6.2 ถังเก็บน้ำ จะตรวจสอบในส่วนขนาดว่าเหมาะสมหรือไม่ ถังรั่วซึมหรือเปล่า ระดับน้ำและวาล์วลูกลอยตัดน้ำสนิทหรือไม่ในณะที่ถึงระดับ พร้อมทั้งตรวจสอบความสะอาดภายในถัง เพราะมักจะมีตะกอนหรือ สิ่งแปลกปลอมภายในถัง ฝาถังชำรุดหรือเปล่า

2.6.3 ถังบำบัด จะตรวจสอบเรื่องระดับน้ำ,การระบายน้ำมาจากชักโครก,สภาพตะแกรงและลูกตะกร้อ อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้หรือไม่,ฝาถังแตกหรือชำรุดหรือเปล่า และความสะอาดภายในถัง

2.6.4 บ่อพัก จะตรวจสอบในเรื่อง จำนวนและระยะ เหมาะสมหรือไม่, การระบายน้ำที่ดีจะต้องไหลได้สะดวก,ฝาบ่อต้องไม่แตกหรือบิ่น,งานรอบท่อ PVC ด้านในจะต้องเกาส์ปูนปิดรอบๆท่อให้เรียบร้อย,ความสะอาดภายในบ่อ,แนวการวางบ่อต้องไม่เอียงและแนวปากบ่อต้องเหนือพื้นดินประมาณ 5 ซม.

2.6.5 ถังดักไขมัน คือ ถังที่ต่อท่อมาจาก Zink ครัว (บางโครงการอาจจะไม่มี) จะตรวจสอบในเรื่อง Slope น้ำ,ตะกร้าดักมีหรือไม่,สภาพของถัง แตกหริอรั่วหรือไม่ ,สภาพฝาถัง ปิดสนิทหรือไม่ ,การต่อท่อเข้ากับระบบถูกต้องหรือไม่ และในส่วนของความสะอาดทั้งหมด

2.6.6 บ่อกราวนด์ คือ บ่อที่มีไว้เพื่อ SERVICE ในเรื่องระบบสายดิน โดยจะมีสายดิน(เส้นเมน) ต่อจากบาร์กราวนด์ของตู้โหลดภายในบ้านมายังหลักดิน(LOT) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญใหญ่ อีกประเภทนึง สำหรับการตรวจสอบจะตรวจสอบวิธีการเชื่อมต่อ ของระบบ เป็นต้น

2.6.7 ระบบปลวก ในหัวข้อนี้สิ่งที่เราตรวจสอบจะทำได้เพียงสังเกตรังปลวก รอบๆ บ้านและดูหัวอัดน้ำยาว่ามีครบตามแบบหรือไม่ เพราะท่อปลวกจะวางตามคานคอดินไปแล้ว(ตามหัวข้อเรื่องการวางท่อปลวก ใน BLOG ที่ผ่านมา ครับ)

3.งานสถาปัตยกรรม เป็นงานที่มองความเรียบร้อยและความสวยงาม เป็นหลัก ซึ่งสามารถมองได้ด้วยตาเปล่า(หรือบางทีอาจจะมองไม่เห็น) ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับคนมองครับ แต่หลักๆ ผมขออธิบายไปเป็นหัวข้อดังนี้ครับ

3.1 งานภายใน

3.11 พื้น กรณีเป็นพื้นกระเบื้อง ก็จะตรวจสอบในส่วนของ การร่อน โพรง บิ่น การยาแนว รอยต่อแผ่น และเป็นรอย เป็นต้น

3.12 พื้น กรณีเป็นพื้นลามิเนต ก็จะตรวจสอบในส่วนของการปู ว่ายวบหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีค่าความผิดพลาดในการปูพื้นได้ไม่เกิน 2-3 mm.,ตรวจสอบในเรื่องรอยต่อแผ่น,บิ่น และเป็นรอย เป็นต้น

3.13 ผนัง ก็จะดูในส่วนของแนวผนัง,การจับเซี้ยม,ผิวผนัง,รอยร้าว และงานทาสีผนัง กรณีปูวอล์ลเปเปอร์ก็จะดูในส่วนของการปูด้วย เป็นต้น

3.1.4 ฝ้า/เพดาน จะดูในส่วนของผิวฝ้า,งานทาสี และแนวการวางแผ่น เป็นต้น

3.2 งานสถาปัตย์ภายนอก

-พืน หากเป็นกระเบื้องก็ให้ดูเหมือนงานภายในบ้าน แต่ถ้าหากเป็นพื้นดินหรือปูหญ้า ก็ให้ดูว่าระดับพื้นเสมอกันหรือไม่ มีการทรุดหรือเปล่า และมีก้อนหินกับเศษขยะเยอะหรือไม่ เพราะอาจทำให้ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้นก็ได้

-ผนังบ้าน ก็ให้ดูเหมือนงานภายใน ซึ่งสำหรับเรื่องงานสีก็อาจจต้องรอให้เก็บงานทุกอย่างเรียบร้อยหมดไปก่อน แล้วค่อยมาทาสอีกครั้งก่อนส่งมอบหรือก่อนเข้าอยู่(ตามข้อตกลงร่วมกัน)

-ผนังรั้ว หากเป็นรั้วเหล็กก็ให้ดูรอยเชื่อมว่าแข็งแรงหรือไม่ เก็บสีให้เรียบร้อยหรือเปล่า แนวรั้วเอียงหรือไม่ หากเป็นผนังปูน ก็ให้ดูเหมือนผนังบ้านและดูเรื่องแนวเอียงด้วย

-ฝ้า ก็ให้ดูเหมือนงานภายใน

-ประตูรั้ว ก็ลองเลื่อนเปิดดูว่าฝืดหรือไม่,ล๊อคได้หรือเปล่า เก็บสีและรอยเชื่อมดีหรือไม่ เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการตรวจบ้านครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคนตรวจว่ามีการสังเกตุที่ดีและความเชี่ยวชาญ แค่ไหน ซึ่งตอนนี้ทางสแควร์วากำลังรวบรวมงานเก่าๆ ที่เคยตรวจมาในรูปแบบคู่มือการตรวจบ้าน มาให้พี่น้องได้อ่าน ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งน่ะครับ