ทำไมอเมริกาถึงพิมพ์ดอลล่าได้เอง (ตอนที่ 3)

House built from US 10 dollar notes (Digital)

วางเรื่องบ้านๆ ขอมาเข้าเรื่องเศรษฐกิจกันซักหน่อยแล้วกันครับ

มาต่อกันที่ปัญหาก็ยังคงไม่บรรเทา…

ปี 2007 อัตราเงินเฟ้อยังคงพุ่งต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือสินค้าขึ้นราคาราวกับติดจรวด
รัฐบาลของมูกาเบ้ ตัดสินใจใช้มุกใหม่ (แต่เป็นแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ)
ออกกฎหมายควบคุมราคาสินค้าทุกอย่าง (Price control) ร้านค้าใดหากไม่ทำตามถือว่ามีความผิด

ผลที่ตามมากลับกลายเป็นว่า ในเมื่อขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ก็ “ไม่ขาย”
สินค้าใน ซุปเปอร์มาร์เก็ต เริ่มถูกเก็บลงจากชั้นวาง เหลือแต่ความว่างเปล่า
การกำหนดราคาขายสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า ยารักษาโรค เริ่มกำหนดกันเองในตลาดมืด พร้อมๆกับการกักตุนสินค้า
เงิน ZWD กลายเป็น “เงินร้อน” ประชาชนรีบใช้มันทันทีเมื่อได้มันมา
ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราเงินเฟ้อ จึงยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

มกราคม 2008
– รัฐบาลออกธนบัตรใหม่ชนิดราคา 200,000 ใช้เป็นครั้งแรก !
แต่ยังไม่ทันจะสิ้นเดือน ธนบัตรชนิดราคา 10,000,000 ก็ถูกผลิตขึ้นมา
ถือเป็นแบงค์ที่มูลค่าแพงที่สุดในขณะนั้น แต่หากคิดเทียบเป็นเงินบาทไทย คงใช้ซื้อข้าวผัดกระเพราได้เพียงแค่ 4 จาน (120 บาท)

เมษายน 2008
รัฐบาลออกธนบัตร ชนิดราคา 50,000,000 ออกสู่สาธารณะ

มิถุนายน 2008
ธนบัตร ชนิดราคา 100,000,000 และ 250,000,000 ก็ถูกผลิตออกมา
แต่แค่เพียง สิบวันหลังจากนั้น ชนิดราคา 500,000,000 ก็ออกตามมาติดๆ

กรกฎาคม 2008
ธนาคารกลางวางแผน จะออกธนบัตรชนิดราคา 100,000,000,000 ออกสู่ตลาด
แต่พอถึงปลายเดือน ประธานธนาคารกลางเลือกที่จะขอปรับค่าเงินกันใหม่ (Redenominated)
โดยคราวนี้ ตัด 0 ข้างหลังออก 10 ตัว !!!!!!
(10,000,000,000 ZWD เก่าแลกได้เพียง 1 ZWD ใหม่)

อัตราเงินเฟ้อในขณะนั้นคือ 11,250,000 % !
ราคาของเบียร์ 1 ขวดในขณะนั้น 100,000,000,000 แต่เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา
ราคาก็ปรับขึ้นเป็น 150,000,000,000

ความคิดของรัฐบาลและธนาคารกลางที่ จะแก้ปัญหาโดยการพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ ไม่สัมฤทธิ์ผลสาเหตุก็เพราะ

ความเชื่อถือในระบบธนบัตรของประชาชนชาวซิมบับเว ลดลงเร็วกว่า ความสามารถในการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์

ไม่ว่าจะเร่งสปีดพิมพ์เพิ่มออกมามากขนาดไหน ไม่สำคัญว่าจะใส่ 0 ไปอีกซักกี่ตัว
เมื่อ กระดาษก็คือกระดาษ ความน่าเชื่อถือหากหมดไปจากกระดาษ ก็คือ จบ…

มูกาเบ้ ไม่เข้าใจความจริงในข้อนี้ เค้าเลือกที่จะสู้หลังพิงฝากับเงินเฟ้อ

มกราคม ปี 2009
ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ประชาชนชาวซิมบับเว จึงได้เห็น ธนบัตร ชนิดราคา 50,000,000,000 ออกใช้

16 มกราคม 2009
วันที่โลกต้องจดจำ รัฐบาลของมูกาเบ้ ประกาศจะพิมพ์ ธนบัตร ชนิดราคา

10,000,000,000,000 – อ่านว่า สิบ ล้านล้าน
20,000,000,000,000 – อ่านว่า ยี่สิบ ล้านล้าน
50,000,000,000,000 – อ่านว่า ห้าสิบ ล้านล้าน
100,000,000,000,000 – อ่านว่า หนึ่งร้อย ล้านล้าน

ออกใช้…..

แต่ไม่มีความหมายอีกต่อไป ประชาชนเลิกพกเงินเป็นกระสอบๆ เพื่อไปจ่ายตลาด
เงินสกุล ซิมบับเว ไม่มีใครเชื่อถือและอยากใช้ การซื้อขายทั่วไป
ถูกกำหนดราคากันใหม่ด้วย เงินสกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น US.Dollar
หรือไม่เช่นนั้นก็ทำการซื้อขายกันด้วย

“ทองคำ”

ประชาชนชาว ซิมบับเว บางส่วน (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ) ย้อนกลับไปสู่ยุคโบราญ
เอากะทะไปร่อนหาเศษทองในแม่น้ำ เพื่อเอามาแลกกับ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช หรือ ขนมปัง ประทังชีวิตไปวันๆ ใครที่ยังเก็บทองคำติดตัวเอาไว้ยังสามารถซื้อของได้เท่าเดิม แต่ผู้ที่เก็บเงินออมไว้ในรูปแบบของ “ธนบัตร” ซิมบับเวเผื่อไว้ใช้ยามแก่ กลับพบว่าเงินทั้งหมดแทบไม่พอที่จะจ่ายแม้แค่ “อาหารเช้าเพียง 1 มื้อ”

เมษายน ปี 2009
สกุลเงิน ZWD ตายสนิท รัฐบาล ปล่อยให้ตลาดเป็นคนกำหนด ราคาและสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกันเอง เงิน ZWD ประกาศหยุดพิมพ์เพิ่ม อย่างน้อย 1 ปีหลังจากนั้น เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาด้วยตัวของมันเอง

ระบบเศรษฐกิจนั้นเมื่อเกิดปัญหา กลไกของตลาดจะมีวิธีจัดการแก้ไขได้ด้วยตัวของมัน ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) หน้าที่ของรัฐบาล เพียงแค่สนับสนุนให้ มือที่มองไม่เห็นนี้ ทำงานไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรมาขัดขวาง

ถามนักเศรษฐศาสตร์คนไหนคงไม่มีใครที่จะไม่รู้เรื่องเงินเฟ้อของซิมบับเวครับ…

เอาเป็นว่าเราคงพอเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่าการที่อยากรวยทางลัดโดยการพิมพ์แบงค์ขึ้นมาเองส่งผลแย่อย่างไร คราวนี้ก็มาถึงคำถามว่าแล้วทำไมอเมริการถึงพิมพ์ดอลล่าร์ขึ้นมาเองได้ละครับ ไม่กลัวเงินเฟ้อแบบซิมบับเวหรอกหรือ…หน้ากระดาษวันนี้คงไม่พอ เอาเป็นว่าไปว่าต่อกันตอนหน้าแล้วกันครับ