บ้านทรุด (ตอนที่1)

วันนี้ผมมีโอกาสได้เข้าไปดูบ้านทรุดให้เจ้าของบ้านรายหนึ่ง (เขาต่อเติมแค่ระเบียงนั่งเล่นหลังบ้าน ใช้เข็มยาว 15 เมตรแต่ยังทรุดหนักครับ) ก็เลยเกิดความคิดว่าผมน่าจะหยิบเอาเรื่องบ้านทรุด เอามาเป็นหัวข้อบอกกล่าวเล่าสิบให้ฟังกันดีกว่า เพราะอันที่จริงเรื่องของบ้านทรุดไม่ได้เพิ่งมีแค่เจ้าของบ้านรายนี้รายแรกที่ถามผมครับ มีถามกันมามากมายและก็หลากหลายคำถามตามแต่กรณีไป

ก่อนเข้าเรื่องบ้านทรุด ผมลองมาไล่คำถามที่ผมเคยเจอให้ฟังก่อนดีไหมครับ (เผื่อจะตรงกับคำถามในใจของใครกันบ้าง)

“ถ้าต่อเติมครัว ต้องตอกเข็มไหม แล้วใช้เข็มสั้นพอไหม?”

“เข็มสั้นคืออะไร? เข็มมีกี่ประเภท? ”

“เทพื้นวางบนดิน เลยจะได้ไหม? ”

“จะต่อหลังคาหลังบ้านวางบนกำแพงเลยได้ไหม? ”

ก่อนจะตอบ มาทำความเข้าใจกันหน่อยดีกว่าครับว่า ทำไมถึงทรุดและอะไรทำให้ทรุด…คำตอบก็คือ“ดิน”ครับ คำตอบดูจะกวนๆหน่อยแต่มันก็คือความจริงครับ เพราะว่าบ้านเรายืนอยู่บนดินไงครับ เพราะฉะนั้นแล้วเรามาทำความรู้จักลักษณะของดินกรุงเทพและปริมณฑลกันซักหน่อยดีกว่าครับ

ดินแถบกรุงเทพ ก็จะเป็นชั้นของดินเหนียวอ่อนซะเป็นส่วนหนา ลึกถัดลงไปก็จะเป็นดินเหนียวแข็งปานกลาง แล้วก็แข็งมาก แล้วก็เป็นชั้นทราย เป็น layer ทับถมกันแบบนี้ (ถ้างงหรือตามไม่ทันดูรูปประกอบครับ)

โดยที่โซนเหนือของกรุงเทพ ชั้นดินเหนียวอ่อนจะเริ่มตั้งแต่ผิวดินลงลึกไปประมาณ 7-8 เมตร ถัดไปดินแข็งประมาณอีก 3-5 เมตร จากนั้นก็จะเป็นชั้นทราย แต่โซนสมุทรปราการชั้นดินอ่อนก็จะลึกจากผิวดินซักประมาณ 17-20 เมตรเลยทีเดียว ลึกถัดลงไปก็เป็นชั้นดินแข็งอีก 3-5 เมตร จนเจอชั้นทรายอีกทีอยู่ที่ประมาณ 23-27 เมตรก็เป็นได้ เพราะยิ่งใกล้ทะเลตะกอนดินเหนียวทับถมก็หนากว่าที่ไกลทะเลเป็นไปตามที่ธรรมชาติรังสรรขึ้นมาครับ นอกจากนี้ ระหว่างชั้นดินเองก็อาจมีชั้นน้ำแทรกอยู่ที่เราสูบขึ้นมาแล้วเรียกว่าน้ำบาดาลยังงัยละครับ

พอนึกภาพชั้นดินของกรุงเทพออกแล้ว ทีนี้เราก็มาดูการรับน้ำหนักของเข็มต่อว่า เสาเข็มทำงานในการรับน้ำหนักอย่างไร…ในตอนต่อไปครับ