บ้านทรุด (ตอนที่2)

ตอนที่แล้วผมพูดถึงลักษณะของดินในกรุงเทพไปเป็นเบื้องต้นครับ ตอนนี้เรามาว่ากันต่อว่าการรับน้ำหนักของเสาเข็ม มันทำงานอย่างไรครับ

การที่เสาเข็มสามารถแบกรับน้ำหนักบ้านได้หลายสิบตัน เป็นเพราะความสามารถนั้นมาจาก 2 ส่วนหลักๆ ครับ หนึ่ง รับน้ำหนักจากปลายเสาเข็มที่ไปยืนอยู่ที่ชั้นดินแข็งๆ หรือชั้นทราย (เหมือนกับแรงที่พื้นดันที่ฝ่าเท้าเรานั่นแหละครับ) และ สอง แรงเสียดทานที่อยู่รอบๆเสาเข็ม หรือพูดง่ายๆ ก็คือแรงที่ดินพยุงเสาเข็มอยู่รอบๆ เสาเข็มนั่นแหละครับ ดังนั้นเข็มยาว (เข็มที่ความยาวถึงชั้นทราย) จะมีแรงจากทั้ง 2 ส่วนที่ว่านี้ครับ แต่เข็มสั้น (เข็มที่ยาวไม่ถึงชั้นทราย) ก็จะมีแรงจากส่วนที่สองเท่านั้นครับ

คำถามต่อไปของคนขี้สงสัยก็คือว่า แล้วผมจะเลือกใช้เข็มแบบไหนดีละครับ เข็มสั้นหรือเข็มยาวดี ถ้าจะตอบคำถามข้อนี้ ต้องมาดูข้อดี ข้อเสียของการรับน้ำหนักแต่ละแบบครับ ซึ่งประเด็นใหญ่ๆ ในการพิจารณาก็คือ หนึ่ง ความสามารถในการรับน้ำหนัก และสอง การทรุดตัว

สมมติว่าต่อเติมครัวออกไปหลังบ้านไม่กว้างเท่าไหร่ น้ำหนักอาคารรวมน้ำหนักใช้งานสมมติว่าซัก 10 ตัน เข็มสั้น (ยาว 6 เมตร) 1 ต้นรับได้ประมาณ 1.5 ตันต่อต้น เข็มยาวรับได้เอาเป็นว่า 20 ตันต่อต้น เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้เข็มสั้นก็ต้องใช้ 7-8 ต้นเป็นอย่างน้อย ถ้าเลือกใช้เข็มยาวก็จะใช้ 2 ต้น