บ้านทรุด (ตอนที่3)

เรามาคุยกันต่อครับว่าทรุดเกิดขึ้นได้ยังไง คำตอบก็คือhouse-subsidence

1 ดินทรุดเองตามธรรมชาติ เหมือนเวลาเราถมที่ใหม่ๆ ดินก็ฟูๆ แต่พอผ่านไปก็ทรุดลงไป เป็นเพราะช่องว่างในดิน ดินเหนียวลึกๆ เองก็มีช่องว่างในดินเช่นกันครับ แต่ไม่ได้ใหญ่เหมือนดินถม แต่อย่างไรมันก็มีให้ทรุดได้ครับ

2 น้ำใต้ดินหายไป ก็คือสูบน้ำบาดาลนั่นแหละครับ พอชั้นน้ำหายไป แผ่นดินก็ทรุดตัวลงในภาพรวม (เป็นบริเวณกว้าง)

เพราะฉะนั้นเวลาดินทรุดตัว มันก็พาเข็มสั้นของเราทรุดตามลงไปตามมวลดิน (ที่มันฝังอยู่) ด้วย จึงเป็นเหตุว่ารับน้ำหนักได้แต่ทรุดนั่นเองครับ

ในทรรศนะของผม ถ้าใครมาถามผมว่าเข็มสั้นได้ไหม ผมฟันธงให้เลยครับ ว่าถ้าใช้หลักการรับน้ำหนักด้วยแรงเสียดทานของดิน (เข็มสั้น) ไม่ว่าจะสั้นมากสั้นน้อย ร้อยทั้งร้อยทรุดหมดครับ มันอยู่ที่การทรุดนี้ทำให้เราปวดหัวหรือเปล่าต่างหากเล่าครับ

เช่นถ้าเราต่อเติมลานซักล้างออกไป จะทรุดก็ทรุดไปซิ ฉันไม่แคร์ แต่ถ้าต่อเติมครัวออกไป แล้วบ้านมันแยกเพราะทรุดตัว แล้ววันดีคืนดีพอฝนตกเข้าหน่อยน้ำฝนไหลย้อยเข้ามาทักทาย อันนี้ก็คงต้องแคร์นิดนึงจริงไหมครับ

ผมขอสรุปให้แบบนี้แล้วกันครับ

เข็มสั้น รับน้ำหนักได้ ราคาถูก แต่ทรุด ทำงานง่ายแม้ในที่แคบ (แต่ถ้าไปเจอดินเหนียวแข็งๆ แบบโซนกรุงเทพเหนือ อาจจะทรุดน้อยก็ได้ครับ)

เข็มยาว รับน้ำหนักได้ ราคาแพง แต่ไม่ทรุด ทำงานต้องใช้พื้นที่

จากเรื่องราวที่ผมเล่ามาจึงไม่แปลกใช่ไหมครับ ที่บ้านหลังนี้อยู่แถวสมุทรปราการ แม้จะใช้เข็มลึกตั้ง 15 เมตรแล้วก็ยังทรุดหนักอยู่ครับ

แถมต่อให้อีกนิดนึงครับ เพราะผมยังไม่ตอบคำถามเลยว่าเข็มมีกี่ประเภท ถ้าแยกตามประเภทวัสดุก็แบ่งได้ว่า 1 เข็มทำจากคอนกรีต 2 เข็มไม้ 3 เข็มเหล็ก

ถ้าแยกตามวิธีการก็แบ่งได้เป็น 1 เข็มตอก 2 เข็มเจาะ (2.1 เจาะแบบเปียก 2.2 เจาะแบบแห้ง) ครับ ผมต่อให้อีกนิดนึงครับ เรื่องราคาเข็มเพราะคงเป็นคำถามที่คาใจมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ถ้าผมไม่พูดถึงก็เหมือนกับทำให้ผู้ติดตามถ่ายไม่สุด (จริงมั๊ย??) สมมติการต่อเติมบ้านสักชิ้นหนึ่งเข็มเจาะ(ยาว)จะแพงกว่าเข็มสั้นประมาณสัก 2 เท่าได้ครับ (เป็นแค่ประมาณให้เห็นภาพตามประสบการณ์ที่มีมานะครับ จะต่างมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นกับว่าต่อเติมน้อยหรือใหญ่นะครับ ยิ่งต่อเติมเล็กๆ ก็ยิ่งแพงห่างกันมากขึ้นครับ)