ว่าด้วยเรื่องของ Safe-T-Cut

มีหลายๆ คนถามผมมาเกี่ยวกับเรื่องของ safe t cut ว่าจะติดดีไม่ดี ติดอย่างอื่นได้ไหม ไม่ติดจะเป็นอะไรไหม แล้ว safe t cut ต่างจาก breaker ยังงัย เอาเป็นว่าวันนี้ผมจะมาไขข้อข้องใจให้กระจ่างกันซะทีเดียวเลยดีกว่าครับ ทั้งเรื่องของเซฟทีคัท, เบรกเกอร์, สายดินและอุปกรณ์อื่นๆ

แต่ก่อนจะไปเรื่องของ เซฟทีคัท ผมต้องขออนุญาตินำท่านเข้าสู่และเข้าใจเรื่องของไฟ ไฟ ก่อนนะครับ

ทุกคนคงเคยได้ยินศัพท์เหล่านี้มาแต่อ้อนแต่ออกใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟดูด ไฟรั่ว ไฟเกิน ไฟช๊อต ไฟลัดวงจร แต่หลายๆ คนก็คงแต่แค่ได้ยินคำพวกนี้ แต่ไม่รู้ว่าความหมายว่ามันหมายถึงอะไร รู้แต่เพียงว่าถ้าเกิดแก่เราแล้ว…บรรลัยเกิด ซี้แหง๋แก๋แน่นอนเท่านั้นเองใช่ไหมครับ

ในบรรดาศัพท์ที่เกี่ยวกับความบรรลัยทางไฟฟ้าข้างต้นที่ว่ามานั้น ผมขอแยกออกเป็นสองประเภทเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ ก็คือ 1 กระแสไฟในสายไฟมีสูงมากเกิน (อันได้แก่ ไฟช๊อต ไฟเกิน ไฟลัดวงจร ครับ) และ 2 กระแสไฟฟ้ารั่วหายไปจากสายไฟ (อันได้แก่ ไฟรั่ว ไฟดูด ครับ)

เรามาขยายความต่อดีกว่าครับว่าไอ้ “กระแสไฟฟ้าในสายไฟมีสูงมากเกิน” หมายความว่าอย่างไร และเกิดได้อย่างไรกันครับ

ลองนึกภาพตามก่อนแบบนี้นะครับ ตอนเรียนวิทยาศาสตร์สมัยเด็กๆ เราเอาสายไฟจิ้มไปที่หลอดไฟข้างหนึ่ง อีกสายหนึ่งก็ออกจากตูดหลอดไฟ กระแสไฟวิ่งเข้าหลอดแล้วก็ออกหลอด หลอดไฟก็สว่างขึ้นมา

หลอดไฟในที่นี้ก็คือความต้านทานชนิดหนึ่งครับ ถ้าจะพูดภาษาวิทย์แบบชาวบ้านๆ ก็คือ มีกระแสไฟวิ่งผ่านตัวต้านทาน ตัวต้านทานก็เกิดปฏิกิริยา เกิดการทำงาน (เช่นหลอดสว่าง เตารีดร้อน มอเตอร์หมุน อะไรก็แล้วแต่) ทีนี้ถ้าเราจับปลายสายไฟมาชนกันโดยไม่มีตัวต้านทานมากั้นกลางละครับ จะเกิดอะไรขึ้น…”ไฟก็วิ่งจากสายเข้าสายหนึ่ง ไปออกอีกสายหนึ่งงัย”…ไม่ใช่ครับ มันไม่ง่ายอย่างนั้นนะซิครับ ผมจะลองมาทบทวนบทเรียนสมัยเด็กๆ ให้ฟังอีกทีแล้วกันนะครับ

พูดภาษาวิทย์ก็คือ “เมื่อมีความต่างศักดิ์เกิดระหว่างตัวต้านทาน ก็จะเกิดกระแสไฟวิ่ง” (เกิดการทำงานตามมา เช่นหลอดสว่าง เตารีดร้อน มอเตอร์หมุน อะไรก็แล้วแต่) เป็นไปตามสูตรที่ว่า ความต่างศักดิ์ = กระแสไฟ x ความต้านทาน (V=IxR) (จริงๆ เป็นสมการของไฟฟ้ากระแสตรงนะครับ ส่วนไฟบ้านที่ใช้กันเป็นไฟกระแสสลับครับ) แต่เอาเป็นว่าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ลองใส่ค่าลงไปในสูตรแบบนี้ดูครับ ไฟบ้านความต่างศักดิ์ 220 โวลท์ หลอดไฟมีความต้านทาน 440 โอห์ม กระแสไฟที่ผ่านเท่าไหร่ครับ ก็เท่ากับ 220/440 = 0.5 แอมป์ ทีนี้พอเราหยิบเอาปลายสายไฟสองฝั่งมาชนกัน ก็เสมือนกับว่า มีความต่างศักดิ์ที่ยังเท่าเดิม แต่คราวนี้ไม่มีตัวต้านทานแล้ว (ตัวต้านทานเป็น 0) กระแสเป็นเท่าไหร่ครับ ก็เท่ากับ 220/0 = อนันต์ นั่นกำลังหมายความว่า เพียงเสี้ยววินาทีมีกระแสไฟฟ้าวิ่งสูงมากในสายไฟ สิ่งที่เราเห็นตามมาก็คือไฟสปาร์คเปรี๊ยะๆ นั่นเองครับ ถ้าเทียบว่าการที่สายไฟสองเส้นถูกหนูกัดขาดหรือฉนวนเสื่อมสภาพ แล้วมาแตะโดนกัน มันก็คือการทำให้เกิดกระแสที่พุ่งสูงเกิน หรือไฟลัดวงจรนั่นเอง (ไฟจากสายไฟเข้าลัดมาออกที่สายไฟออกก่อนที่จะไปถึงหลอดไฟ)

จากเหตุการณ์ข้างต้น เกิดศัพท์ขึ้นก็คือ ไฟช๊อต (การที่ไฟสปาร์คเปรี๊ยะๆ) ไฟเกิน (ก็คือกระแสไฟวิ่งในสายไฟมากเกิน) ไฟลัดวงจร ((ไฟจากสายไฟเข้าลัดมาออกที่สายไฟออกก่อนที่จะไปถึงตัวต้านทาน) พอเข้าใจบ้างไหมครับเกี่ยวกับ “กระแสไฟฟ้าในสายไฟมีสูงมากเกิน” ทีนี้เมื่อไฟเกินมากๆ นานๆ เกิดอะไรครับ ก็สายไฟก็ร้อนนะซีครับ ถ้าร้อนจนขนาดฉนวนสายไฟละลาย ไฟก็ลัดวงจรกันไปใหญ่สปาร์คกันไป หรือถ้าร้อนมากไปติดเชื้อไฟก็อาจเกิดตามมาด้วยไฟไหม้บ้านได้ยังไงละครับ

จากเหตุการณ์ข้างต้น ถ้าไม่อยากให้เกิดไฟเกิน จะทำยังงัยดีละครับ…เราก็ติดอุปกรณ์กันไฟเกินซีครับ สมัยก่อนก็ที่ใช้กันที่เรียกกันว่าฟิวส์งัยครับ พอไฟเกินปั๊บ ฟิวส์เองก็รับกระแสไฟไม่ไหว ฟิวส์ก็ขาด วงจรไฟฟ้าก็ตัดขาดไปโดยปริยาย เสร็จแล้วไปซื้อฟิวส์อันใหม่มาเปลี่ยน ปัจจุบันก็พัฒนามาเป็นเสมือนฟิวส์อัตโนมัติ (ภาษาผมเองนะครับ) ควบคู่อยู่ในตัวเบรคเกอร์ พอเกิดไฟเกินในวงจร เบรกเกอร์ตรวจจับได้ก็สับตัวเองทันที…ก็รอดไป พอแก้ไขเสร็จก็ไปสับเบรกเกอร์ขึ้นใหม่ ใช้งานได้ตามเดิมสบายใจเฉิบ (นอกเรื่องนิดนึงครับ เบรคเกอร์ก็คือสะพานไฟ (Cut-out) ทำหน้าที่ตัดไฟ)

เรามาดูต่อว่าแล้วเจ้า “ไฟฟ้ารั่วหายไปจากสายไฟ” หมายความได้ว่าอย่างไรครับ

ผมขอเริ่มอธิบายแบบชาวบ้านๆ อย่างนี้แล้วกันครับ กระแสไฟฟ้าที่วิ่งเข้ามาในบ้านก็กลับออกไปจากบ้าน กระแสทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกต้องเท่ากันครับ สมมติว่าตู้เย็นของเราเสื่อมสภาพสายไฟภายในโดนหนูแทะฉนวนขาดแล้วบังเอิญมาแตะโครงตู้เย็นเข้า ตอนนี้ยังไม่เกิดอะไรครับ เพราะไฟจากนอกบ้าน วิ่งเข้ามาวนเวียนอยู่ในตู้เย็น (รวมถึงโครงตู้เย็น) แล้วก็วิ่งกลับออกไปนอกบ้าน กระแสเข้าบ้านออกบ้านเท่ากันครับ เมื่อไหร่ที่เราไปจับตู้เย็น กระแสไฟก็จะแบ่งมาลงที่ตัวเราแล้ววิ่งลงพื้นลงดินไป ทีนี้แหละครับกระแสที่วิ่งกลับไปออกนอกบ้านก็จะไม่เท่ากับตอนเข้ามาเพราะแบ่งลงตัวเราลงดินไปแล้ว (สมมติว่าไม่มีสายดิน) จากที่เล่ามาก็จะเกิดศัพท์ 2 ศัพท์ครับก็คือไฟรั่ว (สายไฟขาดมาแตะโครงตู้เย็น ไฟรั่วลงโครงตู้เย็น) และไฟดูด (กระแสไฟไหลลงตัวเราแล้วลงดิน แล้วเราก็ออกสเต๊ปชักแหง่กๆๆตัวติดอยู่ข้างตู้เย็น) มาถึงตอนนี้พอเข้าใจขึ้นมาบ้างไหมครับ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนั้นถ้าเราไม่อยากโดนไฟดูด เราจึงคิดเครื่องมือมาอันนึงเพื่อวัดความแตกต่างของกระแสไฟที่เข้าและออกจากบ้าน ถ้าไฟเข้าและออกต่างกันเจ้าเครื่องตัวนี้ก็จะตัดไฟในบ้านทั้งหมดทันที เจ้าเครื่องมือตัวนี้มียี้ห้อที่เราคุ้นหูก็คือ “เซฟทีคัท” นั่นเองครับ เจ้าเครื่องตัวนี้สามารถวัดความแตกต่างโดยปรับความแตกต่างได้ตั้งแต่ 5 มิลลิแอมป์ถึง 30 มิลลิแอมป์ (ทำไมต้องลิมิตที่ 30 มิลลิแอมป์ไว้มาว่ากันต่ออีกทีครับหรืออ่านได้ตามลิ้งค์นี้เลยครับ http://www.squarewa.com/2010/สาระน่ารู้เกี่ยวกับสายสาระน่ารู้เกี่ยวกับสาย/) ดังนั้นเราติด safe t cut ไปทำไมคงจะพอตอบกันได้แล้วใช่ไหมครับ

ความปวดเศียรเวียนเกล้าเกิดตอนนี้แหละครับ สมมติว่าเครื่องปรับอากาศเราเก่าแล้ว ฝุ่นจับไปหมด พอชื้นเข้าหน่อยโอกาสที่ไฟจะรั่วลงตัวเครื่องหรืออุปกรณ์ภายในก็มีบ้างโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอกครับว่ามันเกิดไฟรั่ว แล้วถ้าเราตั้งไว้ให้มันจับความแตกต่างที่ 5 มิลลิแอมป์ เซฟทีคัทก็ช่างอ่อนไหว sensitive เสียนี่กระไร ตรวจจับเจอแล้วก็ทำการตัดไฟ(ทั้งบ้าน..เพราะคุมเมนเบรคเกอร์) เอ๊ะ! เดี๋ยวตัดๆ ตัดบ่อยๆ เข้าเราชักรำคาญ sensitive นักใช่ไหม ก็เลยไปปรับให้จับความแตกต่างเป็น 10…ก็ยังตัด…รำคาญ…ปรับอีกเป็น 15…ก็ยังตัด…รำคาญ…ปรับอีกเป็น 20…จนทีนี้เป็น 30 ก็ยังตัดอยู่ (แต่ถึงตอนนี้ เราเองก็ยังไม่รู้ว่ามีสาเหตุการตัดมาจากไฟรั่วที่แอร์เก่า) ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร ทีนี้ก็เลยปรับไปเป็น bypass ไปซะเลย หรือก็คือต่อไฟเข้าบ้านโดยตรง ไม่ต้องผ่านเซฟทีคัทแล้ว โอเคครับคราวนี้ไฟในบ้านไม่ตัดแล้ว ไม่รำคาญแล้ว แต่ก็เสมือนว่าเราไม่ได้ติดเซฟทีคัท ไม่ได้ใช้งานมันอยู่ดี มาถึงตรงนี้ก็กลับไปสู่คำถามแรกยอดฮิตที่ว่า “ติดเซฟทีคัทดีหรือเปล่า” ถึงตรงนี้พอนึกภาพออกกันบ้างไหมครับ

มาถึงตรงนี้ด้วยกิเลสของมนุษย์ก็แน่นอนครับว่าต้องมีคำถามที่ว่า “อยากติดอ่ะ แต่ไม่อยากให้ดับทั้งบ้าน มีทางแก้ไหมครับ” คำตอบก็คือว่า มีซิครับ พูดง่ายๆ ก็คือแทนที่จะติดควบคุมวัดความต่างของกระแสทั้งบ้านที่ Main Breaker ก็เลือกติดตัววัดความต่างกระแสที่ตัวควบคุมวงจรย่อย (แต่ละ Breaker) โดยเลือกเป็นวงจรไปที่มันมีความเสี่ยงกับการรั่วของไฟ เช่นเครื่องทำน้ำอุ่น/ร้อน ปลั๊กไฟในห้องน้ำหรือปลั๊กไฟนอกบ้านที่สุ่มเสี่ยงกับการโดนดูด แต่อย่างที่ผมบอกเล่าไปข้างต้น เบรคเกอร์ก็คือสะพานไฟ (Cut-out) ทำหน้าที่ตัดไฟครับ เบรคเกอร์ไม่ได้ทำหน้าที่วัดความแตกต่างของกระแสไฟ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเปลี่ยนมาเป็นเบรกเกอร์ชนิดที่วัดความต่างกระแสไฟได้ในตัวด้วย (เบรคเกอร์แบบมีเซฟทีคัทในตัว) ที่เรียกว่า เบรกเกอร์ ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ ตัดเป็นแค่วงจรๆ ไป อ้อ…ตัว ELCB ก็จะกำหนดค่าความต่างไว้ตายตัวที่ 30 มิลลิแอมป์นะครับ อันที่จริงคำว่า “เบรคเกอร์แบบมีเซฟทีคัทในตัว” เป็นภาษาของผมเองนะครับ เพราะจริงๆ แล้วเจ้าเซฟทีคัทต่างหากที่ถือเป็น ELCB ชนิดหนึ่งครับ

แต่โดยมาตราฐานแล้ว ถ้าเราใช้เครื่องทำน้ำอุ่น/ร้อนที่ผ่านม.อ.ก. (ถ้าไม่ใช่จำพวกเครื่องจากจีนแดงอะไรเทือกนั้น) แล้วนั้นไซร้ ทุกเครื่องจะต้องติด ELCB ในตัวอยู่แล้วครับ (ก็คือไอ้ที่มีปุ่มบนตัวเครื่องให้เรากด TEST ตัวนั้นแหละครับ) ดังนั้นถ้าติด ELCB อีกที่ตู้เมน จะว่าไปก็ซ้ำซ้อนครับ