สาระน่ารู้เกี่ยวกับสายดิน

สายดิน

สายดินคืออะไร? คำถามเรื่องเกี่ยวกับสายดินที่ผมมักจะต้องตอบให้กับลูกค้าที่ผมเข้าไปตรวจบ้านอยู่เสมอๆ เพราะมีหลายโครงการฯ(ทั้ง No Name และมีชื่อเสียง)ที่เค้ามักจะลืมหรือเป็นเพราะลดสเป๊คงาน หรือจะอะไรก็ตาม ที่ทำให้บ้านของท่านลูกค้าไม่มีสายดินไว้เพื่อป้องกันไฟดูดหรือไฟรั่วเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อาจเกิดอันตรายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของตัวท่าน วันนี้ผมมีคำตอบและคำอธิบายเกี่ยวกับสายดินมาฝากกันครับ

ผมขอกล่าวง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจกันน่ะครับว่าสายดินคือสายไฟฟ้า(ตามกฎการไฟฟ้าจะเป็นสีเขียวหรือเขียวแถบเหลือง)มีไว้เพื่อป้องกันเราให้พ้นอันตรายที่เกิดจากไฟชอร์ตหรือไฟรั่ว เพราะกรณีหากเกิดไฟชอร์ตหรือไฟรั่วขณะที่เราใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนั้นอยู่ กระแสไฟจะไหลเข้าสู่ส่วนที่เป็นโลหะ ซึ่งถ้าเราสัมผัสโลหะนั้นอยู่ แถมที่บ้านก็ไม่ได้ติดสายดินไว้ด้วย กระแสไฟทั้งหมดก็จะไหลเข้าสู่ตัวเรา ทำให้อาจเกินอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ถ้าที่บ้านมีการติดตั้งสายดินไว้ กระแสไฟเหล่านั้นก็จะไหลผ่านเข้าไปที่สายดินแทน อันตรายต่างๆ ที่เกิดจากไฟชอร์ตหรือไฟรั่วก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า สายดินทำหน้าที่เหมือนท่อน้ำล้นของอ่างล้างจานในครัวบ้านเรา ที่เมื่อเปิดน้ำจนถึงท่อน้ำล้นแล้ว น้ำก็จะไหลออกมาตามท่อนั้น น้ำจึงไม่ล้นอ่าง สายดินนี้ตรงส่วนปลายจะถูกฝังไว้ในดินจริงๆ ด้วยการรวมสายดินจากทุกจุดต่างๆ ในบ้านมารวมตัวกันในตู้ควบคุมไฟฟ้า และต่อสายอีกเส้นจากตู้ไฟนี้เชื่อมกับ แท่งทองแดงหรือแท่งเหล็กชุบหรือหุ้มด้วยทองแดงมีขนาดไม่ต่ำกว่า 5/8 นิ้วและยาวประมาณ 2.40 เมตร ที่จะทำการฝังอยู่ในดินโดยสายไฟดังกล่าวนี้จะต้องมีความยาวตลอดจนถึงหลักดินโดยไม่มีการตัดขาดระหว่างสายไฟ โดยวิธีการต่อเชื่อมสายเข้ากับหลักดินจะมีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี ดังนี้ กรณีแรก ด้วยวิธีแรงกลควรให้จุดต่อโผล่ขึ้นจากดินเพื่อป้องกันการผุกร่อนบริเวณจุดต่อ และให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายด้วยการมีบ่อและฝาปิด กรณีที่สองถ้าจะฝังในดินจะต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยวิธีเชื่อมด้วยความร้อน(Exothermic Welding) ซึ่งภายในดินจะมีความชื้นอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสภาวะความต้านทานไฟฟ้าต่ำ กระแสไฟจึงไม่ไหลมาทำอันตรายเรา ทีนี้พอมองเห็นประโยชน์ของสายดินบ้างหรือยังครับ

จะปักตำแหน่งหลักดินไว้ตรงไหนดี? คำถามนี้ไม่ค่อยมีลูกค้าถามครับแต่ผมว่ามันสำคัญเลยทีเดียว เพราะมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยที่บางโครงการ อาจจะพลาดก็ได้ครับผมจึงสรุปให้เป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

1.ตำแหน่งของหลักดินไม่ควรอยู่ไกลจากตู้เมนมากนักเพราะ หากไกลมากไปเส้นทางก็ยาวขึ้นทำให้กรณีไฟฟ้ารั่วลงดินอาจจะไหลช้าลง

2.พื้นดินที่ใช้ปักหลักดินควรเป็นดินแท้ๆที่ไม่มีหินทรายหรือปูน ปนอยู่

3.ไม่ควรมีอุปสรรคเช่น เสาหรือผนังขวางกั้นการแพร่กระจายของประจุไฟฟ้าในพื้นดิน

4.สภาพดินที่ชื้นจะดีกว่าดินที่แห้งแต่ต้องไม่มีน้ำท่วมขัง

5.ในการปักหลักดินลงสู่ดินจะต้องมีค่าความต้านทานต่ำสุดไม่เกิน 5 โอห์ม แต่กรณีที่สภาพดินไม่เอื้ออำนวยเมื่อวัดค่าความต้านทานแล้วยังเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้อนุโลมให้ปักแท่งดินเพิ่มอีก 1 แท่งและปักห่างกันเท่ากับความยาวแท่งหลักดินแล้วต่อเชื่อมให้ถึงกัน

เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทใดที่ต้องมีสายดินล่ะ? เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีสายดินได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มักมีไฟรั่วได้ง่าย มีส่วนภายนอกที่เป็นโลหะหรือเกี่ยวข้องกับน้ำ หรือความร้อนเช่น เตารีด ตู้เย็นกระทะไฟฟ้า ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำอุ่น เตาอบ เป็นต้น เครื่องใช้ไฟฟ้าเล่านี้การไฟฟ้าให้คำนิยามว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1 สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดินได้แก่เครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวกที่มีฉนวนหุ้ม 2 ชั้นหรือมีความหนาของฉนวนเป็น 2 เท่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเล่านี้การไฟฟ้าให้คำนิยามว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 2 อีกประเภทนึงที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดินเรียกว่าประเภท 3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแรงดันไม่เกิน 50 v. เช่น เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น

อันตรายจากการโดนไฟฟ้าดูดหรือช๊อตจะทำให้ตายได้ไหม? ดูได้จากตารางน่ะครับ

ปริมาณกระแสไฟฟ้า

ผลกระทบที่มีต่อร่างกาย

1 mA หรือน้อยกว่า

ไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย
มากกว่า 5 mA

ทำให้เกิดการช็อก และเกิดความเจ็บปวด
มากกว่า 15 mA

กล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเกิดการหดตัว และร่างกายจะเกิดอาการเกร็ง
มากกว่า 30 mA

การหายใจติดขัด และสามารถทำให้หมดสติได้
50 ถึง 200 mA

ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ และอาจจะเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที
มากกว่า 200 mA

มีรอยไหม้บริเวณผิวหนังที่ถูกไฟฟ้าดูดและหัวใจหยุดเต้นภายในเวลาไม่กี่วินาที
ตั้งแต่ 1A ขึ้นไป

ผิวหนังบริเวณที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูดถูกทำลายอย่างถาวร และหัวใจจะหยุดเต้นภายในเวลาไม่กี่วินาที
คราวนี้เห็นแล้วยังครับ ว่าสายดินมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ดังนั้นผมคิดว่าข้อความหรือบทความที่ผมได้เขียนไว้ ซึ่งบางส่วนก็ได้นำข้อมูลมาจากที่อื่นๆบ้าง คงจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยน่ะครับ และหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจและใช้มันให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดครับ