ปั๊มแบบเหลี่ยมกับปั๊มแบบกลมต่างกันอย่างไร

ปั๊มเหลี่ยมกับปั๊มกลมต่างกันยังไง (ตอนที่ 1 ปั๊มกลมเป็นยังไง???)

เชื่อว่าเป็นคำถามของทุกคนที่จะมีอยู่ในใจ หลังจากที่เดินปรี่เข้าห้างไปแล้วหยุดอยู่ที่หน้าแผนกปั๊มน้ำ แต่คำตอบที่ตอบตัวเองได้เห็นจะมีอยู่ข้อเดียวก็คือ “ราคาไง” พร้อมกับคำอธิบายของพนักงานขายที่เราก็ยังงงในงงอยู่ดี

วันนี้ผมจะมาไขข้อข้องใจให้ฟังกันครับ

ที่เขาบอกว่าปั๊มอัตโนมัติๆ มันก็หมายถึงปั๊มที่ทำงานอัตโนมัติหลังจากที่เราเปิดก๊อกใช้น้ำนั่นเองครับ (ไม่ต้องมานั่งถอดปลั๊กเสียบปลั๊ก หรือยกเบรคเกอร์เปิดปิดไฟเหมือนปั๊มหอยโข่งที่ใช้สูบน้ำตามต่างจังหวัด) ซึ่งทั้งปั๊มแบบเหลี่ยมและปั๊มแบบกลมต่างก็เป็นปั๊มอัตโนมัติครับ

แต่ปั๊มเหลี่ยมถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีแรงดันน้ำที่คงที่ จึงกลายเป็นว่าปั๊มกลมคนเรียกว่า “ปั๊มอัตโนมัติ” ส่วนปั๊มเหลี่ยมคนเรียก “ปั๊มแรงดันคงที่” ไปซะงั้น (ทั้งๆ ที่ตรูก็อัตโนมัติเหมือนกันนะ)

แต่นอกจากเรื่องชื่อที่เรียกแล้ว การจะเข้าใจความแตกต่างของปั๊มทั้ง 2 แบบ เราต้องมาทำความเข้าใจหลักการทำงานของปั๊มอัตโนมัติกันก่อนนะครับ

หลักการทำงานของปั๊มน้ำก็คือ เมื่อเราเปิดก๊อกน้ำ น้ำไหลออกมา แรงดันในท่อประปาลดลง  ส่งผลมาถึงแรงดันในถังแรงดันของปั๊มลดลงเช่นกัน เซนเซอร์ (pressure switch) ในปั๊มจะสั่งให้มอเตอร์ปั๊มทำงาน และดูดน้ำเข้ามาในถังแรงดันจนได้ความดันระดับหนึ่งที่ตั้งไว้จากโรงงาน เซนเซอร์ก็จะสั่งให้มอเตอร์หยุดทำงาน แต่ก๊อกน้ำยังคงเปิดอยู่ เมื่อน้ำไหลออกจากก๊อกไปอีกจนความดันในท่อลดลง เซนเซอร์ในปั๊มจะสั่งให้มอเตอร์ปั๊มทำงาน เพื่อสั่งให้มอเตอร์ทำงาน ปั๊มน้ำเข้ามาในถังแรงดัน  จนได้ความดันระดับหนึ่ง เซนเซอร์ก็จะสั่งให้มอเตอร์หยุดทำงาน ทำงานวนไปเรื่อยๆ แบบนี้

ที่ว่ามาเป็นหลักการทำงานในปั๊มกลมครับ จะเห็นว่าเจ้าพระเอกของเราคือตัว pressure switch ที่คอยตัดวงจรไฟฟ้าเพื่อสั่งให้มอเตอร์ทำงานหรือหยุดทำงานนั่นเอง นอกจากนี้จากหลักการดังกล่าว เราจะเห็นว่าแรงดันน้ำในท่อประปาก็จะไม่คงที่ เพราะแรงดันมีการอ่อนตัวลงแล้วก็กลับมาแรงอีกครั้งตามจังหวะการทำงานของมอเตอร์ ซึ่งความไม่คงที่ของแรงดันน้ำนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหา แต่สำหรับในบ้านขนาดเล็กที่ใช้น้ำไม่พร้อมกัน เปิดแค่ก๊อกเดียวหรือเปิดก๊อกคนละที บางครั้งเราอาจไม่รู้สึกถึงความเบาหรือแรงของน้ำที่ทำสลับกันได้ ก็รู้สึกแค่ว่าอาบน้ำแล้วน้ำยังแรงได้ใจอยู่ ไม่ได้หงุดหงิดรำคาญใจอะไร แต่สำหรับบ้านที่ใช้น้ำเยอะ หรือเดินระบบท่อไว้ไม่ดี (เดี๋ยวจะมาพูดถึงเรื่องการเดินท่อในบ้านด้วยครับ) หรือมีการเปิดใช้งานหลายก๊อกพร้อมๆ กัน ทีนี้หล่ะเราอาจจะรู้สึกได้ถึงความแรงหรือเบาของน้ำที่เพิ่มลดตามจังหวะการทำงานของปั๊มได้ โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำร้อนที่ต้องอาศัยกระแสน้ำไหลผ่านขดลวดความร้อนอย่างสม่ำเสมอ ถ้าน้ำผ่านขดลวดความร้อนเร็วเกินไป เครื่องทำความร้อนไม่ทัน น้ำก็ไม่ร้อน พอน้ำไหลเบาไปหรือผ่านขดลวดช้า น้ำก็ร้อนมากเกิน ไอ้คนที่อาบน้ำอยู่ก็เต้นเป็นเจ้าเข้าเพราโดนน้ำลวกสลับกันไป เป็นต้น ด้วยเหตุฉะนี้ จึงมีการพัฒนามาเป็นปั๊มเหลี่ยมที่มีแรงดันคงที่ แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร เรามาว่าต่อกันตอนหน้าครับ

ปั๊มเหลี่ยมต่างจากปั๊มกลมอย่างไร (ตอนที่2 ปั๊มเหลี่ยมเป็นยังไง)

คราวที่แล้วเราคุยกันถึงหลักการทำงานของปั๊มน้ำแบบทั่วไปที่เราคุ้นเคย หรือที่เรียกว่าปั๊มกลมนั่นเอง วันนี้เราจะมาคุยหลักการทำงานของปั๊มเหลี่ยมกันบ้าง เพื่อจะได้ถึงคำตอบที่ว่าปั๊มเหลี่ยมกับปั๊มกลมต่างกันอย่างไรครับ

อย่างที่เล่าไปในตอนที่แล้วว่าปั๊มกลมแรงดันน้ำจะไม่คงที่ แปรผันไปตามจังหวะการทำงานของมอเตอร์ปั๊ม จึงได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นปั๊มเหลี่ยมที่มีแรงดันคงที่ แล้วมันคงที่ได้อย่างไรตามอ่านต่อกันเลยครับ

ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่นอกจากจะมี pressure switch ที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของมอเตอร์ของปั๊มแบบในปั๊มกลมแล้ว ปั๊มเหลี่ยมจะเพิ่ม flow switch มาคุมมอเตอร์ด้วยอีกทางหนึ่งนั่นเอง

อย่างที่คุยไปตอนที่แล้วว่า pressure switch ในปั๊มกลมทำหน้าที่เป็นพระเอกในการควบคุมการทำงานของมอเตอร์ของปั๊ม ซึ่งเจ้า pressure switch นี้ทำงานตามแรงดันในท่อประปาอย่างเดียว เรียกว่าแรงดันได้ที่ก็ตัดไฟหยุดการทำงานของมอเตอร์ แรงดันตกก็ต่อวงจรไฟทำให้มอเตอร์กลับมาทำงาน แต่สำหรับปั๊มเหลี่ยมแล้วนอกจากมี pressure switch แล้ว ยังมี flow switch เพิ่มเข้ามาอีกตัว

เจ้า flow switch นี้ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่วัดกระแสการไหลของน้ำ พูดง่ายๆ ก็คือถ้าน้ำในท่อไม่ไหล (ปิดก๊อกน้ำนิ่ง) มอเตอร์ก็จะไม่ทำงาน พอน้ำไหล ก็จะต่อวงจรไฟให้มอเตอร์ทำงาน ดังนั้นจะเห็นว่าแม้ว่ามอเตอร์ทำงานจนความดันได้ถึงจุดแล้ว และ pressure switch ตัดวงจรไฟฟ้าแล้ว แต่ flow switch ยังคงต่อวงจรไฟให้มอเตอร์ยังคงทำงานต่อ จึงทำให้กระแสน้ำไม่ตกนั่นเอง

เมื่อการทำงานต่างกัน เสียงของการทำงานจึงต่างกันด้วยครับ ปั๊มกลมจะทำงานไปซักพัก แล้วตัดการทำงาน ตัดไปซักพัก แล้วกลับมาทำอีก ทำไปซักพักแล้วตัด เหมือนในคลิป แต่สำหรับปั๊มกลมเนื่องจากต้องทำงานตลอดเวลาจึงไม่มีการตัดจนกว่าจะปิดก๊อก หรือน้ำนิ่งนั่นเอง

นอกจากแตกต่างที่เรื่องของ switch แล้ว ถังแรงดันในปั๊มกลมจะใช้อากาศธรรมดาในการวัดแรงดัน แต่ในปั๊มเหลี่ยมจะใช้ก๊าซไนโตรเจนในการวัดแรงดันแทน เนื่องจากมีความเสถียรกว่า กระเปาะแรงดันก็จะเล็กกว่า ไม่ต้องเป็นถังพักน้ำแบบในปั๊มกลม ซึ่งเป็นผลให้ตัวปั๊มโดยรวมดูตัวเล็กกว่าด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่า ปั๊มเหลี่ยมดูจะแอดว๊านซ์กว่าปั๊มกลม จึงไม่แปลกที่ราคาจะแพงกว่าไปด้วย

แล้วจะเลือกใช้แบบไหนดีล่ะ ก็คงเป็นคำถามต่อมาจากคำถามแรก ที่คาใจใครต่อใครหลายๆ คนและยังคงหาคำตอบกันไม่ได้ ไว้เราจะมาว่ากันต่อในตอนต่อไปให้ฟังครับ

#ปั๊มถังเหลี่ยม #ปั๊มถังกลม #แตกต่างกันยังไง