ทำไมอเมริกาถึงพิมพ์ดอลล่าได้เอง (ตอนที่ 4)

วางเรื่องบ้านๆ แล้วมาต่อเรื่องเงินๆ กันอีกซักหน่อยครับ

news_img_371873_1อันที่จริงแล้วอเมริกาสมัยก่อนก็มีทองคำสำรอง (gold reserve) เหมือนกันนะครับ และก็ได้ยกเลิกไปสมัยท่านประธานาธิบดี Flanklin Delano Roosevelt แต่การที่อยู่ๆ ยกเลิกทองคำสำรองและพิมพ์ดอลล่าเอง แสดงว่าอเมริกาก็ต้องมี “อะไรก็แล้วแต่ที่มีค่า” มาหนุนหลังครับ (เพราะของฟรีไม่มีในโลก..จริงๆครับ) แล้วไอ้เจ้าอะไรก็แล้วแต่มันคืออะไร…เชิญทุกท่านสดับต่อได้เลยครับ

สมัยก่อน ราวปี 1875-1914 ทองคำถูกใช้เป็นมาตรฐานระบบการเงิน ซึ่งกำหนดความแตกต่างด้วยปริมาณทองคำสำรองระหว่างสกุลเงินของ 2 ประเทศ ระบบนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะต้องสำรองทองคำในปริมาณมหาศาลเพื่อรักษาดี มานด์/ซัพพลายทางการเงินให้มีเสถียรภาพ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐซึ่งเป็นฝ่ายที่นำชัยชนะมา เริ่มทำตัวเป็นชาติมหาอำนาจ ตั้งตัวเป็นเจ้าโลกแทนอังกฤษที่เสื่อมอำนาจลง และตั้งมาตรฐานใหม่ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องค้าขายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้ดอลล่าจึงได้กลายเป็นสกุลเงินสำคัญของโลก และเงินสกุลทั่วโลกจะผูกค่าเอาไว้นิ่งกับค่าดอลลาร์ อำนาจครอบงำจากดอลลาร์จึงเกิดขึ้น แต่การจะพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกมาให้พอกับความต้องการ รัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องมีทองคำหนุนหลัง อเมริกาจึงต้องการทองคำมาเพื่อพิมพ์ดอลล่า เพราะฉะนั้นประเทศใดต้องการดอลลาร์ก็ต้องเอาทองคำไปแลก แล้วจะแลกในอัตราเท่าไหร่ดี ประเทศต่างๆจึงได้ร่วมประชุมกันที่เมืองเบรตตันวูดที่สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1935 เรียกว่า ข้อตกลงเบรตัน วูดส์ (ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ก็เป็นต้นกำเนิดของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเวลาต่อมา) เพื่อตกลงกันในการกำหนดมูลค่าดอลลาร์ ในการประชุมครั้งนั้น ที่ประชุมตกลงกันว่าทองคำ 1 ออนซ์มีมูลค่า 35 ดอลลาร์ นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลสหรัฐต้องการจะพิมพ์ธนบัตรออกมา 35 ดอลลาร์ก็ต้องมีทองคำหนุนหลัง 1 ออนซ์ (หน่วยงานที่พิมพ์ธนบัตรคือธนาคารเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ ซึ่งมิใช่ธนาคารของรัฐ แต่เป็นบรรษัทการเงินเอกชนที่ควบคุมโดยนายธนาคารระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลของโลก)

เงินดอลลาร์กลายเป็นเงินสากลและถูกนำไปใช้ทั่วโลก และตกค้างในประเทศต่างๆในจำนวนพอๆกับใช้หมุนเวียนในสหรัฐฯเอง เมื่ออเมริกากระโจนเข้าสู่สงครามเวียดนามและช่วงสงครามเย็น ภาระที่แบกรับมากเกินของรัฐบาลอเมริกัน ทำให้ดอลลาร์เริ่มมีค่าน้อยลงกว่าทองคำ สหรัฐขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเริ่มแคลงใจ สงสัยว่าสหรัฐพิมพ์แบงค์ออกมาใช้มากกว่าทองคำที่เป็นทุนสำรองอยู่ ประเทศต่างๆ จึงนำดอลล่าร์ไปแลกทองคำกลับมากอดไว้ก่อนดีกว่า และแน่นอน สหรัฐไม่มีปัญญาหาทองคำจำนวนมหาศาลมาให้ทุกประเทศแลกคืนได้พอหรอก เพื่อปกป้องค่าดอลลาร์ไว้ ใน ค.ศ. 1971 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยนั้น ได้ชักดาบเอาเสียดื้อๆ ประกาศตัดความสัมพันธ์คงที่กับทองคำ ยุติการซื้อขายทองคำกับดอลลาร์เอาดื้อๆ เป็นการฉีกข้อตกลงเบรตันวูดส์อย่างสิ้นเยื่อใย และแน่นอน ประเทศอื่นก็ทำอะไรไม่ได้ ใน ค.ศ. 1971 รัฐบาลสหรัฐเลิกใช้ระบบเบรตตันวูดเพียงฝ่ายเดียว พูดง่ายๆก็คือต่อจากนี้ไปสหรัฐจะพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกมาโดยไม่ต้องมีทองคำหนุนหลัง ในปีนั้นเองราคาทองคำได้พุ่งพรวดขึ้นไปเป็น 850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้เพราะมีการแอบพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกมามากเกินกว่าที่กำหนดไว้ในตอนแรก

สหรัฐเป็นผู้ที่มีทองคำเป็นทุนสำรองมากที่สุดในโลกด้วยเหตุนี้กระมัง ทั้งที่ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้าโลก ประเทศอื่นเอาทองคำไปแลกกระดาษดอลล่าร์มาเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการซื้อขาย ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ข้าวสาร สากกะเบือ เรือรบ เพราะระบบการเงินที่เอาตัวเองเป็นแกน พอระบบที่ตัวเองตั้งขึ้น มันไปไม่ได้ เพราะตัวเองใช้เกินตัว ก็ชักดาบเอาดื้อๆ โดยไม่มีใครกล้าหือ

แล้วทำไมเราต้องไปยุ่งกับดอลล่าร์ด้วย?
– เพราะสหรัฐเป็นผู้ที่ถือครองทองคำมากที่สุด มีอิทธิพลในการกำหนดราคาทองคำมากที่สุด
– เพราะทองคำ ถูกกำหนดมูลค่าเป็นดอลล่าร์ ความสัมพันธ์จึงแนบแน่นเกินจะหลีกเลี่ยง

ตั้งแต่เล่ามา ฟังดูเหมือนดอลล่าของอเมริกาไม่มีการหนุนหลังด้วยทองคำอีกแล้ว (เนื่องจากได้ชักดาบไปเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกาแล้ว) แล้วอเมริกายังพิมพ์กระดาษโดยไม่มีอะไรที่มีค่ามาหนุนหลังได้อย่างไร…จริงๆ แล้วสิ่งที่มีค่าที่คอยหนุนหลังอยู่ก็คือน้ำมันครับ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไว้ต่อกันคราวหน้าครับ