กลเม็ดการแบ่งงวดงานก่อสร้างที่เจ้าของบ้านต้องรู้ให้ทัน

คราวก่อนผมเคยพูดถึงเรื่องการกำหนดเนื้องานในแต่ละงวดต้องสัมพันธ์กับการก่อสร้างจริง ไม่อย่างนั้นอาจเป็นช่องโหว่ให้ผู้รับเหมาเบิกเงินเกินเนื้องานได้

วันนี้เรามาจะพูดถึงอีกเทคนิคนึงที่ผู้รับเหมาชอบเขียนลงในงวดงาน ซึ่งผมเองก็มักจะไม่ค่อยชอบเหมือนกันเวลาผู้รับเหมาเสนองวดงานมาแบบนี้ นั่นก็คือการเขียนว่า “เมื่องาน xxx แล้วเสร็จ 80%”

อ่านมาถึงตรงนี้เจ้าของบ้านหลายคนคงจะถามว่า อ้าว…แล้วมันแปลกตรงไหน ก็ฟังดูปกตินี่หน่า ต้องบอกว่าไม่แปลกครับ แต่เสียเปรียบครับ เสียเปรียบอย่างไรเรามาขยายความกันต่อครับ ผมชอบที่จะให้บอกว่างานอะไร“แล้วเสร็จ”ไปเลย พูดง่ายๆ ก็คือแล้วเสร็จ 100% แล้วค่อยมาเบิกเงิน ส่วนไม่เสร็จจริง เพราะมีเหตุอันอาจจะติดพันกับงานส่วนนู่นหรืองานส่วนนี้ ทำให้จบงาน 100% ไม่ได้ แล้วมาขอความเห็นจากเจ้าของบ้านว่าจะขอเบิกได้ไหม ขอให้ไปถัวกับงานที่ทำเกินไปแล้ว แบบนี้ยังดีกว่า

เพราะความไม่ชัดเจนของการกำหนดเนื้องานแบบที่ไม่ 100% ทำให้เกิดข้อพิพาทมานักต่อนัก เพราะมุมมองของเจ้าของบ้านมองว่างานยังไม่เสร็จตามสัญญาแต่จะมาขอเบิกเงิน แต่ผู้รับเหมาก็มองว่างานเสร็จไป 80% แล้วจะขอเบิกเงิน ถ้าไม่ให้เบิกจะขอไม่ทำงานต่อ แล้วทีนี้จะเอาอะไรมาวัดว่างานมันเสร็จ 80% จริงๆ

กรณีพิพาทมักจะเกิดในงวดกลางๆ หรือท้ายๆ เพราะเจ้าของงานเริ่มเห็นแล้วว่าเงินเหลืออยู่ไม่เยอะ แต่ว่างานยังเหลืออีกเยอะเลย อะไรก็ไม่เสร็จเรียบร้อยซักอย่าง ดูแล้วยังไงเงินก็เกินงาน ถ้าจ่ายงวดนี้ไปก็กลัวว่าผู้รับเหมารับเงินไปแล้วจะทิ้งงานแน่นอน แต่ผู้รับเหมาก็มองว่าเขาเบิกตามงวดที่ตกลงกันไว้ไม่ได้ทำผิดสัญญาอะไร

ซึ่งในกรณีแบบนี้ อาจลามไปถึงผู้รับเหมาขอยกเลิกสัญญาเนื่องจากเจ้าของผิดสัญญา เพราะผู้รับเหมามองว่าเขาไม่ได้ผิดสัญญาก็มีมาแล้ว สุดท้ายการถูกยกเลิกสัญญาก็ไม่ต่างอะไรกับผู้รับเหมาทิ้งงานอยู่ดี

เห็นไหมครับว่าการเชียนงวดงานโดยกำหนด % ไม่ชัดเจนแบบนี้ ผู้ว่าจ้างเสียเปรียบครับ

ไว้วันหลังจะมาเล่าเทคนิคอื่นๆ ให้ฟังกันอีกครับ